วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


การสร้างนักกีฬาวอลเลย์บอลที่มีความสามารถขึ้นมาสักคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจากระยะเริ่มหัดเล่นจนกระทั่งพัฒนาฝีมือ ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญก็คือคุณครูผู้ฝึกสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูผู้เริ่มฝึกสอนเด็กๆ หัดเล่นวอลเลย์บอล โดยส่วนตัวผมมองว่าคุณครูผู้ฝึกสอนในระดับนี้จะต้องเป็นผู้มีความอดทนเสียสละอย่างมากในการดูแลฝึกหัดเด็กๆ ให้เรียนรู้การเล่นวอลเลย์บอลได้อย่างถูกต้องซึ่งถือว่าเป็นการวางรากฐานให้กับเด็กๆ เหล่านั้นได้มีโอกาสได้พัฒนาฝีมือของตนเองต่อไปในอนาคต ผมเองไม่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกเด็กเริ่มหัดเล่นแต่พยายามศึกษารวบรวมข้อมูลวิธีการต่างๆ มานำเสนอโดยหวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่คุณครูในการนำไปฝึกฝนเด็กๆ บ้างไม่มากก็น้อย
Mr.Jetchev ซึ่งเป็นวิทยากรฝึกอบรมผู้ฝึกสอนนานาชาติของสหพันธ์วอลเลย์บอลได้กล่าวไว้ว่าในการนำเด็กทั่วไปมาฝึกหัดให้เล่นวอลเลย์บอล สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้เด็กๆ เหล่านั้นไม่เบื่อหรือเลิกกลางคันเสียก่อน ซึ่งหากผู้ฝึกสอนสามารถหาเด็กที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ แต่เมื่อเริ่มฝึกไประยะหนึ่งเด็กเหล่านั้นกลับเบื่อไม่สนใจฝึกต่อก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวผู้ฝึกสอนต้องตั้งวัตถุประสงค์ในการฝึกไว้ข้อหนึ่งคือ ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นวอลเลย์บอล หากเด็กมีความสนุกในการฝึกจะทำให้ความสนใจมากขึ้นและไม่เกิดความเบื่อหน่ายจนไม่อยากเล่นเสียก่อน
การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มการฝึก
ก่อนเริ่มฝึกผู้ฝึกสอนควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกดังนี้
  1. ศึกษาคุณลักษณะด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักกีฬาเช่นสภาพแวดล้อม สภาวะครอบครัว การเรียน หรืออื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการดูแลฝึกซ้อม
  2. ตรวจสุขภาพร่างกายเด็กๆ ที่จะมาฝึกเพื่อทราบข้อมูลว่าเด็กเหล่านั้นมีโรคประจำตัวหรือไม่ สามารถรับการฝึกได้หรือไม่
  3. ประเมินสมรรถภาพร่างกายของแต่ละคน
  4. ศึกษาทัศนคติ ลักษณะนิสัยเพื่อแก้ไขข้อเสียและรักษาสิ่งดีไว้
  5. หลักการเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับระดับที่จะต้องฝึก
เมื่อผู้ฝึกสอนมีข้อมูลดังกล่าวแล้วสิ่งที่จะต้องเตรียมเพื่อการฝึกคือ
  • โปรแกรมการฝึก
  • อุปกรณ์การฝึก
  • จัดกลุ่มการฝึกโดยขึ้นอยู่กับระดับทักษะของแต่ละคน
  • จัดผู้ช่วยให้เหมาะสมในการฝึกแต่ละกลุ่ม
การสอนรูปแบบพื้นฐานในการเล่นวอลเลย์บอล
การฝึกรูปแบบพื้นฐานการเล่นวอลเลย์บอลแบ่งขั้นตอนการฝึกได้ดังนี้
  • ขั้นแรกของการฝึกพื้นฐานการเล่นผู้ฝึกสอนควรสร้างความคุ้นเคยกับลูกบอลให้แก่ผู้ฝึก โดยสอนวิธีการควบคุมบอลและการเคลื่อนที่ควบคุมบอลลักษณะต่างๆ และการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย
  • แนะนำทักษะการส่งลูก การนำไปใช้ในสถานการณ์การเล่น โดยเริ่มจากท่าทางที่ถูกต้องในการส่งลูกด้วยมือล่าง การส่งลูกมือล่าง การส่งลูกมือบน การส่งลูกมือเดียวและการเสริฟลูกด้วยมือล่าง
  • แนะนำสอนเทคนิค การเซต การตบ และการเสริฟขั้นสูงขึ้น เกมการเล่นเบื้องต้นที่ใช้การตบบอล
  • แนะนำสอนเทคนิคการรับลูกตบ การรับลูกเสริฟ และการสกัดกั้น
ในแต่ละขั้นตอนที่สอนแต่ละเทคนิคผู้ฝึกสอนควรสร้างสถานการณ์การแข่งขันโดยใช้เทคนิคที่ฝึกนั้นเพื่อสร้างความสนุกสนานและกระตุ้นความสนใจให้กับผู้ฝึกไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
ตัวอย่างตารางโปรแกรมการฝึกซ้อมสำหรับผู้เริ่มเล่นวอลเลย์บอล
การฝึกซ้อมแต่ละสัปดาห์
สัปดาห์ 

1   สร้างความคุ้นเคยกับลูกบอล โดยผู้เล่น 1 คนต่อลูกบอล 1 ลูก
2
   สร้างความคุ้นเคยกับลูกบอล โดยผู้เล่น 2 คนต่อลูกบอล 1 ลูก
3
   ควบคุมบอลด้วยมือล่างมือเดียว 2 มือ ผู้เล่น 1 คน ต่อลูกบอล 1 ลูก
4
   พื้นฐานท่าทางการส่งลูกมือล่างและท่าทางของผู้เล่นแดนหลัง การส่งลูกมือล่างทิศทางต่างๆ
5
   การเสริฟด้วยมือล่างและการรับลูกเสริฟ
6
   เกมการเล่นที่ใช้การส่งลูกด้วยการโยนลูกบอล/ด้วยมือล่าง โดยใช้การเสริฟมือล่าง
7
   เกมมินิวอลเลย์บอล (2x2 3x3 4x4) โดยใช้รูปแบบทักษะที่ได้ฝึกผ่านมาแล้ว
8
   การโยนบอล ควบคุมลูกบอล โดยใช้มือบนเพื่อเริ่มฝึกการส่งลูกมือบน
9
   การเคลื่อนที่ส่งลูกมือบน
10 เกมการส่งลูกด้วยมือบน
11 การเซตจากแดนหลังสู่หน้าตาข่าย
12 การเซตบริเวณหน้าตาข่าย (ฝึกตัวเซต)
13 เกมการส่งบอลและเซต โดยผู้เล่น 2 หรือ 3 คน
14 การฝึกตบ (การเหวี่ยงแขน การก้าวเท้า และการกระโดด)
15 การฝึกตบ (กระโดดตบโดยตาข่ายไม่ต้องสูง) จำลองเกม การส่งบอล-เซต-ตบ
16 การฝึกตบ (ตบบอลที่เซตสูง / เปลี่ยนทิศทางการตบ)
17 ฝึกการรับลูกตบ เคลื่อนที่รับลูกตบทิศทางต่างๆ
18 ฝึกคาดคะเนทิศทางการรับลูกตบ
19 การรับลูกตบโดยผู้เล่น 2 หรือ 3 คน ฝึกความเข้าใจรูปแบบการรับลูกตบ
20 รวมการฝึกระหว่างทักษะการรับ การเซต และการตบ
21-22 เกม 4 
4 (ใช้สนาม 6 
4.5 เมตร) ใช้การเสริฟด้วยมือล่าง การรับเสริฟ การเซตและการตบ


ฝึกของข้นเริ่มต้นผู้ฝึกสอนควรกำหนดไว้เป็นแผน โดยสามารถใช้ฝึกได้ทั้งสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต เพียงแต่ให้พิจารณาจำนวนที่จะปฏิบัติ เวลาในการฝึก ความเข้มข้นในการฝึก และจำนวนวันที่ฝึกต่อสัปดาห์

มีสิ่งที่ผู้ฝึกสอนควรพิจารณาในการฝึกเด็กๆ ให้เล่นวอลเลย์บอลประการหนึ่งคือ โดยธรรมชาติของเด็กเมื่อเราขว้างลูกบอลใส่เด็กจะหนีหรือหลบลูกบอล ดังนั้นการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบอลจะทำให้เด็กลดความกลัวบอล สร้างความคุ้นเคยโดยให้เด็กได้จับได้โยนหรือกลิ้งลูกบอล โดยผู้ฝึกสอนสามารถผสมผสานเรื่องการเคลื่อนที่สำหรับการเล่นวอลเลย์บอลเข้าไปด้วย วิธีนี้ถือว่าเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับลูกบอลได้ดีวิธีหนึ่ง

นอกจากนั้นผู้ที่เพิ่งเริ่มหัดวอลเลย์บอลมักอยากจะเล่นเหมือนผู้ที่เล่นเก่งแล้วเร็วๆ มักชอบข้ามขั้นตอนของการฝึกอยากจะเล่นเกมแข่งขันเร็วๆ ผู้ฝึกสอนที่เก่งมักจะใช้สถานการณ์การแข่งขันมาประกอบการฝึก โดยพื้นฐานของการเล่นวอลเลย์บอลต้องการอย่างน้อย 2 ส่วนคือ

  1. การเสริฟบอลไปยังฝั่งคู่ต่อสู้โดยไม่ผิดพลาด
  2. การเล่นลูกเสริฟกลับไปยังฝั่งคู่ต่อสู้

โดยหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้การเล่นวอลเลย์บอลขาดความสนุกสนาน และในการเล่นวอลเลย์บอลเราไม่สามารถใช้การจับแล้วโยนข้ามตาข่ายไปมาได้ ดังนั้นในการฝึกขั้นแรกเมื่อเด็กเคยชินกับลูกบอลแล้ว การส่งลูกมือล่างเป็นเทคนิคเริ่มต้นซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกสอนสามารถใช้สถานการณ์การแข่งขันในกระบวนการฝึกได้ เช่น การเล่นเกม 2x2 3x3 4x4 เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย

ผู้ฝึกสอนต้องคำนึงว่าความสามารถของเด็กอายุ 11-12 ปี จะไม่เท่ากับผู้เล่นที่โตแล้ว ดังนั้นจึงควรกำหนดกติกาพิเศษสำหรับเด็กในการสอนและเกมสำหรับเด็ก

การพัฒนาสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในการฝึกซ้อม แต่ในเด็กเพิ่งเริ่มหัดใหม่มักไม่ค่อยชอบ หากมีระยะเวลาการฝึกซ้อมยาว ผู้ฝึกสอนอาจจะพัฒนาด้านสมรรถภาพร่างกายสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง ธรรมชาติของเด็กมักอยากเล่นวอลเลย์บอล ดังนั้นการฝึกสมรรถภาพผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจที่ดีจึงทำให้ผลการฝึกซ้อมด้านสมรรถภาพร่างกายเป็นไปในทางบวก

ข้อแนะนำสำหรับการฝึกซ้อมวอลเลย์บอลให้กับเด็กเริ่มเล่น

  • เตรียมระบบการฝึกซ้อม วิธีการพัฒนาทักษะ สมรรถภาร่างกายพื้นฐานและสภาวะจิตใจตลอดการฝึกซ้อมประจำวัน
  • ใช้กิจกรรมการฝึกซ้อมกับลูกบอลที่หลากหลายเป็นประจำ
  • จำนวนครั้งในการฝึกไม่ควรเกิน 10 ครั้งและมีเวลาพักพอสมควร ควรให้คำแนะนำเสมอหลังการฝึกซ้อม
  • ไม่ควรฝึก Weight training ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • อธิบายวิธีการเล่นให้เข้าใจชัดเจน
  • เตรียมสภาพแวดล้อม กระตุ้นความสนใจในการฝึก สำหรับการฝึกเด็กการให้คำชม ปลุกปลอบใจ เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างแรงจูงใจในการฝึกซ้อม
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักกีฬา ไม่ควรสร้างแรงกดดันในการฝึกซ้อมสำหรับผู้เริ่มหัดใหม่อย่างเด็ดขาด
  • ให้ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนมีโอกาสฝึกเท่าเทียมกัน ไม่มีใครสามารถพัฒนาได้จากการดูเฉยๆ

ในตอนต่อไปผมจะนำวิธีการฝึกซ้อมสำหรับเด็กหัดเล่นใหม่มานำเสนอเป็นตอนต่อไปครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. สมัครสมาชิก pxj เข้าสู่ระบบ pg เปิดเว็บบราวเซอร์ และไปที่เว็บไซต์ pg หรือเว็บไซต์ที่ต้องการเข้าสู่ระบบการเข้าสู่เว็บไซต์เกมหรือบริการออนไลน์มักเป็นกระบวนการที่ง่ายและสะดวก

    ตอบลบ